อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม

ความเป็นมา
กระทรวงยุติธรรมเป็นองค์กรหลักในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน  ภารกิจหลักของกระทรวงยุติธรรม คือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมาย การลดข้อพิพาทและความขัดแย้ง การอำนวยความยุติธรรม การลงโทษและฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมทั้งการ คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของ ประชาชน
กระทรวงยุติธรรมจึงจัดทำโครงการอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การกระทำผิดกฎหมาย และการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม โดยการเข้ามาเป็นแนวร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส การทุจริตคอร์รัปชั่นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการกระทำที่เป็นภัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
บทบาทของอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
1. เฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสอาชญากรรม การกระทำผิดกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
2. พิทักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
3. เป็นแนวร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของส่วนราชการ และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ
คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
1. เป็นผู้ที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. มีสัญชาติไทย
3. มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
4. มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารได้ดี
5. มีความสมัครใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
วิธีการสมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
 ขอรับใบสมัครและสมัครด้วยตนเองที่ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม อาคารกระทรวงยุติธรรม ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์/โทรสาร 0-2502-6500 ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-20.30 น. วันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.30-16.30 น.
 ส่งใบสมัครติดรูปถ่ายพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนทางไปรษณีย์มายัง ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม อาคารกระทรวงยุติธรรม ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
 สามารถสมัครอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ http://www.moj.go.th/th/cms/detail.php?id=6468

ประโยชน์ที่อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมจะได้รับ
 ได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเป็นธรรม และความสงบสุขของสังคม
 มีโอกาสเข้ารับการอบรมความรู้ด้านกฎหมาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมรวมถึงกิจกรรมการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ที่กระทรวงยุติธรรมจัดขึ้น
 มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทรวงยุติธรรมและเครือข่ายยุติธรรมชุมชนได้จัดขึ้น
เรื่องที่ควรแจ้งเบาะแส และข้อมูลการกระทำความผิด
 การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 การกระทำผิดตามกฎหมายยาเสพติด เช่น การผลิต การจำหน่าย การเสพยาเสพติด
 การกระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน
 การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เช่น แชร์ลูกโซ่ การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน การกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากร และการเงินและการธนาคาร ฯลฯ
 การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ
 การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
 การกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นๆ
จรรยาบรรณของอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม
1. มุ่งมั่น และมีความกล้าที่จะแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย และ/หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม
2. ไม่กลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายจากการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลที่ปราศจากความจริง
3. ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ในการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล
4. เฝ้าติดตามพฤติการณ์ ความเคลื่อนไหวของบุคคลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลไปแล้วให้กระทรวงยุติธรรมทราบ เมื่อมีข้อเท็จจริงใหม่หรือเปลี่ยนไปจากที่ได้แจ้งไปแล้ว
5. รักษาความลับและข้อมูลที่ให้แก่กระทรวงยุติธรรม
ช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อมูล
 ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม
– อาคารกระทรวงยุติธรรม ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
– โทรศัพท์/โทรสาร 0-2502-6500
– เว็บไซต์ http://www.moj.go.th/th/contact/index.php

หมายเหตุ :
1. ผู้สมัครต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมกับการยื่นใบสมัคร
2. ในการสมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมผู้สมัครยินดีให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบข้อมูลการสมัคร หากพบว่าข้อมูลเป็นเท็จ กระทรวงยุติธรรมขอสงวนสิทธิในการรับหรือเพิกถอนการเป็นสมาชิกอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม

กระทรวงยุติธรรมจะนำข้อมูลที่แจ้งไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน
และจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งเป็นความลับ

2 thoughts on “อาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม

  1. ต้องการเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม

  2. ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่พบเห็นการกระทำผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ แต่ไม่สามารถแจ้งเบาะแสให้กับข้าราชการในพื้นที่ได้ เนื่องจากในพื้นที่ ที่ผมอยู่มีทั้งผู้มีอิทธิพลและข้าราชการบางคนที่มีการให้ท้ายและเอื้อประโยชน์ให้ นายทุนและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถละเมิด และ กระทำผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง ตัวผมได้เห็นการกระทำเหล่านี้มาจนชาชิน จะมีวิธีใด ที่จะมี่การเอาผิดหรือดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้บ้างครับ เพราะผมเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่สามารถแจ้งเบาะแสได้ เพราะไม่อาจทราบได้ว่ามีข้าราชการคนไหนร่วมกระทำอยู่บ้าง อยู่แจ้งเบาะแสไปก็เกรงจะเป็นภัยกับครอบครัว

Comments are closed.